วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

การเดินภาวนา

อานิสงส์การเดินภาวนาจงกรม


วันที่ลงมือเขียนต้นฉบับ ผู้เขียนยังยืนตากแดดกรำฝนอยู่ที่วัดป่าชนะสงคราม...อีกสามสี่วันก็จะถึงวันสำคัญ...เททองหล่อพระประธาน ซึ่งคาดว่าจะมีครูบาอาจารย์สายพระกรรมฐาน จำนวนนับร้อยรูปมาร่วมพิธี มีญาติธรรมจำนวนหลายพันคนมาร่วมบุญกุศลอย่างล้นหลาม...

ด้วยประการดังกล่าวข้างต้น จักต้องเตรียมการทุกอย่าง ให้เรียบร้อย...ให้ขาดตกบกพร่องไม่ได้!

งานบุญปีนี้ได้รับความเมตตาจาก หลวงปู่จันทา ถาวโร อาจารย์ใหญ่แห่งวัดป่าเขาน้อย จังหวัดพิจิตร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และได้รับความกรุณาจาก พลโทปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ มาเป็นประธานฝ่ายฆราวาส กับผู้หลักผู้ใหญ่อีกหลาย ๆ ท่าน อาทิ  ท่านผู้พิพากษาน้ำทิพย์ อ่อนชด   คุณพนิดา ชอบวณิชชา  คุณรักษ์ชนก นามทอน   ฯลฯ  อีกมากมายหลายท่าน

ภูเตศวรและทมยันตีขอกราบขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ และที่สำคัญยิ่งคือต้องกราบขอบพระคุณหลวงพ่อวัดพระพุทธรูปทองคำ (พิพัฒน์มงคล) ซึ่งพระเดชพระคุณท่านได้ให้ความกรุณาเป็นอย่างยิ่งกับการอำนวยความสะดวกในเรื่องเต็นท์ปะรำพิธี เรื่องที่พักสำหรับแขกเหรื่อ ที่มาร่วมงานอย่างเต็มกำลัง

พระคุณของครูบาอาจารย์ครั้งนี้จะจารจดในหัวใจของภูเตศวรตราบสิ้นลมหายใจเลยครับ

ที่ขาดมิได้ก็คือ...ท่านผู้มีจิตศรัทธามาร่วมงานบุญกุศล ผู้เป็นญาติธรรมทุกท่าน อีกทั้งผู้มิได้มาร่วมงานหากส่งปัจจัยมาร่วมบุญผ่านทางขวัญเรือนทุกท่าน ภูเตศวรขอกราบขอบพระคุณเป็นที่ยิ่ง กับความเมตตาปรานีของท่านทั้งหลาย ที่ทำให้เจตนาปักธงชัยแห่งพระศาสนา ลงบนแผ่นดินสุโขทัยได้สำเร็จเสร็จสิ้น

ขอผลานิสงส์ผลบุญราศีที่ได้ร่วมกันทำครั้งนี้จงเป็นฉัตรแก้วฉัตรทองป้องกันท่านทั้งหลายจากโพยภัยจากโรคาพยาธิ และขอให้ความมุ่งหวังของทุกท่านจงสัมฤทธิผลทุกประการเทอญ

ส่วนรายละเอียดของงานพร้อมรูป ผู้เขียนจะนำลงตีพิมพ์ในคอลัมน์ธรรมะ 5 นาทีในฉบับหน้าครับ

คราวนี้เรามาเข้าเรื่องตามหัวข้อที่จั่วไว้กันเลยดีกว่าครับ...การเดินจงกรมเป็นการปฏิบัติธรรมที่มีอานิสงส์สูงนั้น...ด้วยเหตุอันใด?

ครูบาอาจารย์สายปฏิบัติโดยตรง ท่านมักสอนสั่งลูกศิษย์และกำชับเสมอ...

‘ให้ลงทางจงกรมให้มากด้วยความเพียร’

เหตุนี้เป็นเพราะการเดินจงกรมภาวนาให้ความมีสติได้มากกว่าการนั่งภาวนาซึ่งมักเกิดนิวรณ์ได้ง่าย

นิวรณ์ที่เกิดจากการนั่งภาวนาส่วนใหญ่ คือการง่วงเหงาหาวนอน เหตุเพราะการนั่งหลับตานิ่ง ๆ จิตจะเคลิ้มคล้อยได้ง่าย การขาดสติตรงนี้จะทำให้เกิดภาพปรุงแต่ง เกิดนิมิตหลอกนิมิตลวงง่ายกว่าการเดินจงกรม

การนั่งนาน ๆ จะก่อให้เกิดโทษกับร่างกาย โดยเฉพาะการนั่งขัดสมาธินาน ๆ จะปวดขาปวดข้อ  บางรายถึงกับเป็นโรคปวดหัวเข่าเรื้อรังไปก็มี อีกประการ การนั่งสมาธินิ่งนาน ๆ เลือดลมในร่างกายจะเดินไม่สะดวก การย่อยอาหารก็จะลดประสิทธิภาพลง ทำให้ท้องอืดท้องเฟ้อ ผิดกับการเดินจงกรม ร่างกายจะทำงาน อวัยวะจะเคลื่อนไหว ทำระบบทางเดินอาหาร และการหมุนเวียนของเลือดลมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การเดินถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด ดังนั้นจึงเป็นการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงได้เป็นอย่างดี

สมัยที่ผู้เขียนบวชเรียน หลวงปู่ท่านจะอบรมการปฏิบัติใ ห้ทำความเพียร ระหว่างการนั่งสมาธิภาวนา สลับกับการเดินจงกรม เหตุผลก็คือการนั่งนาน ๆ จะปวดเมื่อย การลุกขึ้นเดินจงกรม เท่ากับเป็นการยืดแข้งยืดขาไปในตัว แต่ที่ลึกไปกว่านั้นคือ...

การเดินจงกรม สามารถพิจารณาอรรถธรรมได้ดีกว่า เพราะขณะเดินจงกรมสมาธิจะรวมกันหลวม ๆ เป็นลักษณะสบาย ๆ ไม่เคร่งเครียดเหมือนการนั่ง

สำหรับท่านที่นั่งสมาธิแล้วเกิดอาการง่วงงุน โบราณาจารย์ท่านให้แก้ ด้วยการลุกขึ้นไปเดินจงกรมสักระยะ จนหายง่วง แล้วค่อยมานั่งใหม่ ให้ทำอย่างนี้ไปเรื่อยจนกว่าจะแก้นิวรณ์ได้

ในหนังสือวิสุทธิมรรค  และหนังสือทิพยอำนาจ ของพระอริยคุณาธาร (เส็ง) ปุสฺโส) กล่าวยืนยันถึงอานิสงส์แห่งการเดินจงกรมภาวนาไว้ชัดเจนยิ่ง...

            หนึ่ง...ร่างกายแข็งแรง
สอง...สมาธิและฌานที่ได้จากการเดินจงกรมจะอยู่ทน นานกว่าการได้จากการนั่งภาวนา

ถึงตรงนี้บางท่านอาจสงสัย การเดินจงกรมเดินอย่างไร  การเดินจงกรมก็เหมือนการนั่งภาวนานั่นแหละ ที่ต้องใช้อุบายทำให้จิตสงบ  บางท่านภาวนาพุทโธ...สัมมาอรหัง กำหนดลมหายใจเข้าออกด้วยอานาปานสติ  การเดินจงกรมก็อาจใช้พุทโธกำหนดจากการย่างเท้า  เช่น ย่างเท้าซ้ายกำหนด ‘พุท’ ย่างเท้าขาวกำหนด ‘โธ’ หรือเอาลมหายใจเข้าออกกำหนดการย่างเท้าซ้าย-ขวาก็ได้ บางสำนักกำหนดตามอาการของร่างกายด้วย ‘ย่างหนอ’ อะไรอย่างนั้นก็ได้เช่นกัน

การกำหนดทางเดินจงกรม โดยทั่วไปของพระภิกษุสายวัดป่า จะทำทางเดินจงกรมกว้างประมาณสามฟุต ยาวประมาณสามสิบก้าว  หรืออาจจะยาวกว่านั้นบ้างก็ได้ แต่ถ้าระยะทางยาวเกินไป ท่านผู้รู้กล่าวว่าจะทำให้เดินเพลินเกินไป ทำให้ขาดสติง่าย ถ้าสั้นเกินไป ก็จะทำให้สะดุดอารมณ์เร็วเกินไป

การเดินจงกรมก็เดินกำหนดไปจนสุดทางเดิน แล้ววนกลับไปมาตามระยะเวลาที่ตนกำหนดไว้ สั้นยาวขึ้นอยู่กับความเพียรของแต่ละบุคคล นักภาวนาบางท่านอาจเดินจงกรมตลอดทั้งคืนก็มี  ลักษณะเช่นนี้ผู้เขียนเคยพบเห็นบ่อย ๆ กับพระภิกษุในวัดป่าสายพระกรรมฐานครับ

สำหรับญาติโยมหรือเราท่านทั้งหลาย ก็สามารถใช้อาณาบริเวณในบ้านนั่นแหละ เป็นที่เดินจงกรม จะเป็นสนามหญ้าหรือระเบียงบ้านก็ไม่ผิดกติกาครับผม 

            สำคัญคือ...ทำให้มาก...ทำให้บ่อย ๆ ก็จะเห็นผลเองแหละ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น